ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)

ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบๆ ตัวมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นธรณีภาค อุทกภาค และบรรยากาศภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ภูมิศาสตร์กายภาพจึงเป็นวิชาหลักพื้นฐาน ที่สามารถช่วยให้นักศึกษาวิเคราะห์เหตุผลประกอบกับการสังเกต พิจารณาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพบนพื้นพิภพได้เป็นอย่างดี

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

Chapter 5 Global Climate System

ภูมิอากาศ" ต่างจาก "ลมฟ้าอากาศ" อย่างไร ?


ภูมิอากาศ (Climate) หมายถึง สภาวะอากาศของทวีป ประเทศ เมือง หรือท้องถิ่นแห่งหนึ่งแห่งใดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนาน จึงจัดได้ว่าเป็นตัวแทนของลักษณะอากาศเฉลี่ยของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในบางครั้งเราเรียกว่า “ภูมิอากาศประจำถิ่น“(Topoclimate) ข้อมูลภูมิอากาศได้มาจากการตรวจอากาศประจำวันและนำข้อมูลที่ได้มาทำการบันทึกติดต่อกันเป็นเวลานาน และจึงนำมาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งหนึ่ง โดย ข้อมูลที่จัดเก็บได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน เมฆ และลม ร่วมกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อันได้แก่ ทัศนวิสัย แสงแดด พายุหมุน เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวเราเรียกว่า “ ธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา ” (Meteorological Element)

“ลมฟ้าอากาศ”(Weather) หมายถึง สภาวะอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งในพื้นที่แห่งหนึ่ง ต่างจากภูมิอากาศที่มีสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ในรอบปี โดย ภูมิอากาศเป็นสภาวะอากาศเฉลี่ย หรือลมฟ้าอากาศเฉลี่ยในระยะเวลาหลายๆ ปีของพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งนั่นเอง

อะไรเป็นตัวการทำให้ภูมิอากาศบนโลกของเรามีความแตกต่างกัน ?
จากลักษณะสภาพทั่วไปของพื้นผิวโลกที่มีความแตกต่างกัน มีผลทำให้ลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันไป หรือแม้แต่พื้นที่ตำแหน่งละติจูดเดียวกันบนพื้นโลก แต่ถ้าหากอยู่กันคนละพื้นที่ก็ทำให้มีลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันได้ โดยขึ้นอยู่กับตัวการหรือปัจจัยที่ควบคุมลมฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ ละติจูด (Latitude) พื้นที่แต่ละแห่งบนพื้นโลกอยู่แตกต่างกันไปในแต่ละเขตละติจูดซึ่งมีผลต่อการได้รับแสงหรือมุมของรังสีตกกระทบจากดวงอาทิตย์ ระยะเวลาในการได้รับแสง ทำให้เกิดการแปรผันของลมฟ้าอากาศตามมา และทำให้เกิดความแตกต่างกันในพิสัยของอุณหภูมิของแต่ละพื้นที่บนโลก เช่น ในเขตละติจูดต่ำมักมีอากาศร้อน และกึ่งโซนร้อน ส่วนบริเวณละติจูดสูงมีอากาศหนาวเย็นกว่า ลักษณะของพื้นดินและพื้นน้ำ (Land and Water Area) ลักษณะการกระจายตัวของพื้นดินและพื้นน้ำบนผิวโลก มีผลต่อการรับและคายความร้อน ของพื้นดินและพื้นน้ำที่มีความแตกต่างกัน เช่น พื้นดินจะรับและคายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้พื้นดินเย็นเร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อุณหภูมิของอากาศบนพื้นดินมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าพื้นน้ำ และมีผลทำให้สภาพภูมิอากาศภาคพื้นดินที่อยู่ลึกจากชายฝั่งทะเลเข้าไปมากมีลักษณะอากาศที่แตกต่างกันมาก ได้แก่ ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด และในฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าวมากกว่าลักษณะภูมิอากาศชายฝั่งทะเล ความกดอากาศและลม (Wind and Pressure) จากความแตกต่างระหว่างที่ตั้งในละติจูดต่างกัน ความแตกต่างระหว่างพื้นดินและพื้นน้ำ ทำให้มีผลต่อการถ่ายเทอากาศและการเคลื่อนที่ของอากาศแตกต่างกัน อากาศที่เคลื่อนที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเย็น การควบคุมอุณหภูมิของพื้นโลก โดยการพาความร้อนจากบริเวณหนึ่งไปยังบริเวณหนึ่ง พื้นผิวโลกมีขนาดที่แตกต่างกันจึงได้รับความร้อนและความเย็นไม่เท่ากัน นาดของพื้นที่จึงสัมพันธ์กับความกดอากาศ เช่น ในเขตละติจูดกลางจะมีลมฝ่ายตะวันตกพัดอยู่เป็นประจำ ส่วนในเขตละติจูดต่ำจะมีลมฝ่ายตะวันออกพัดอยู่เป็นประจำเช่นกัน กระแสน้ำในมหาสมุทร (Ocean Current) กระแสน้ำในมหาสมุทรทั้งกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น มีผลต่อการนำพาความร้อนและความเย็น ซึ่งมีผลต่ออุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนของพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นอันมาก เช่น พื้นที่บริเวณใดที่มีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่านลักษณะภูมิอากาศจะมีความชุ่มชื้น หรือบริเวณใดที่มีกระแสน้ำเย็นไหลผ่านลักษณะอากาศจะมีอุณหภูมิลดต่ำลงและมีความแห้งแล้งกว่า ดังนั้นลักษณะภูมิอากาศของพื้นที่ที่มีกระแสน้ำอุ่นหรือกระแสน้ำเย็นไหลผ่านจึงมีความแตกต่างไปจากบริเวณอื่นที่ตั้งอยู่ในเขตละติจูดเดียวกัน หรือบริเวณพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในพื้นแผ่นดิน ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และลมประจำที่พัดผ่าน (Location) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และลมประจำที่พัดผ่าน มีความเกี่ยวข้องกับพื้นดินและพื้นน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้วคือ ลมประจำที่พัดจากภาคพื้นสมุทรเข้าไปยังภาคพื้นทวีปจะทำให้บริเวณที่ตั้งรับลมมีลักษณะอากาศชุ่มชื้น ในทางตรงกันข้ามถ้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมประจำที่พัดผ่านจากภาคพื้นทวีปออกไปยังภาคพื้นสมุทรจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่แห้งแล้งมากกว่า และนอกจากนั้นในด้านตำแหน่งที่ตั้งที่เกี่ยวข้องกับความสูงต่ำของลักษณะภูมิประเทศ เช่น การทอดตัวของแนวเทือกเขาสูงที่ขวางกั้นทิศทางลมประจำ จะมีผลต่อลักษณะภูมิอากาศทางด้านต้นลมของภูเขาและด้านปลายลมของภูเขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ ด้านต้นลมของภูเขาที่ได้รับอิทธิพลจากลมประจำถิ่นภาคพื้นสมุทรจะมีลักษณะภูมิอากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นมากกว่าด้านปลายลมซึ่งมักมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง ส่วนที่ตั้งที่มีระดับความสูงต่ำต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในเขตละติจูดเดียวกันก็ตามจะมีลักษณะภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกัน โดยที่ตั้งที่มีระดับความสูงมากกว่าจะมีลักษณะอากาศหนาวเย็นมากกว่าที่ตั้งที่มีระดับความสูงน้อยกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น