ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)

ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบๆ ตัวมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นธรณีภาค อุทกภาค และบรรยากาศภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ภูมิศาสตร์กายภาพจึงเป็นวิชาหลักพื้นฐาน ที่สามารถช่วยให้นักศึกษาวิเคราะห์เหตุผลประกอบกับการสังเกต พิจารณาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพบนพื้นพิภพได้เป็นอย่างดี

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

Chapter 10 Costal Processes & Landform

ลักษณะภูมิประเทศของทะเลและมหาสมุทร
ทะเลและมหาสมุทรจัดเป็นเปลือกโลกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับแอ่งน้ำและมีน้ำปกคลุมอยู่ สัดส่วนพื้นที่ของมหาสมุทรคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 71 ของเปลือกโลกทั้งหมด มหาสมุทร คือ ส่วนของผิวน้ำที่ถูกล้อมรอบด้วยทวีป ส่วนทะเลหมายถึงส่วนที่เป็นขอบของมหาสมุทร บางส่วนเรียกว่าอ่าวตามสภาพภูมิประเทศ ดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่าส่วนของมหาสมุทรเป็นหินจำพวกหินบะซอลต์เป็นส่วนหนึ่งของเปลือกโลกที่เรียกว่า “ไซมา” (Sima) จาการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำที่แช่ขังอยู่ในแอ่งของมหาสมุทรในระยะแรกจะเป็นน้ำจืด แต่เมื่อบนโลกเกิดปรากฏการณ์ฝนตก หยาดน้ำฟ้าจะไหลจากภาคพื้นทวีปทำให้เกิดการชะล้าง การพัดพา และการละลายเอาเกลือแร่ต่างๆ บนโลกให้ลงมาสะสมอยู่ในทะเลติดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะเดียวกันน้ำในมหาสมุทรจะมีอัตราการระเหยกลายเป็นไออยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สารละลายประเภทเกลือมีความเข้มข้นสูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมน้ำทะเลจึงมีรสเค็ม ประกอบกับการศึกษารายชื่อเกลือแร่ที่ประกอบอยู่ในน้ำทะเลเราพบว่าองค์ประกอบเป็นเกลือคลอไรด์ถึงร้อยละ 55 รองลงมาได้แก่เกลือโซเดียมร้อยละ 31 นอกจากนั้นก็เป็นแร่ธาตุชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่าปริมาณแร่ธาตุที่ละลายในน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุประการหนึ่งมาจากมนุษย์สร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาขาต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลมีปริมาณลดลง

นอกจากนั้นเรายังพบว่าความเค็มของน้ำทะเลที่ระดับน้ำทะเลนั้นแตกต่างกันไปตามที่ต่างๆ โดยทางซีกโลกเหนือน้ำทะเลจะเค็มที่สุดใกล้ๆ กับบริเวณละติจูดที่ 25 องศาเหนือ ส่วนทางซีกโลกใต้เค็มมากที่สุดที่ประมาณละติจูด 20 องศาใต้ เนื่องจากอัตราการระเหยของน้ำทะเลมีมากและหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมามีปริมาณน้อยนั่นเอง สำหรับอุณหภูมิของน้ำทะเลขึ้นอยู่กับการแผ่รังสีความร้อนของดวงอาทิตย์มากที่สุด มีความแปรผันตามระดับความลึก โดยจะมีความแตกต่างกันทั้งในแนวราบ (จากเส้นศูนย์สูตรถึงขั้วโลก) และทางแนวดิ่ง (จากระดับน้ำทะเลลงไปถึงท้องมหาสมุทร) อุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยในฤดูร้อนแต่ละมหาสมุทรจะแตกต่างกัน โดยมหาสมุทรอาร์กติกมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 0 - 5 องศาเซลเซียส และมหาสมุทรอินเดีย อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 25 - 27 องศาเซลเซียส สำหรับในแนวราบพบว่าที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลประมาณ 25 องศาเซลเซียส และที่ขั้วโลกประมาณ -2 องศาเซลเซียส (รัชนีกร บุญ-หลง , 2536.)

ลักษณะภูมิประเทศของทะเลและมหาสมุทร ดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่าทะเลและมหาสมุทรแบ่งเป็นส่วนของไหลทวีป (Continental Shelf) ลาดทวีป (Continental Slope) ซึ่งจะมีความลาดชันที่แตกต่างกัน โดยไหล่ทวีปเป็นพื้นที่ที่ต่อเนื่องจากทวีปค่อย ๆ ลาดจากชายฝั่งลงไปประมาณ 2 เมตร ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จนถึงตอนที่ระดับน้ำลึกประมาณ 120 เมตร ส่วนลาดทวีปจะอยู่ถัดจากไหล่ทวีปออกไป และมีความลาดชันมากประมาณ 65 กิโลเมตร ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ทอดไปถึงระดับน้ำลึกประมาณ 3,600 เมตร แยกพิจารณาดังนี้


Ron Macnab, Geological Survey of Canada (Atlantic)

ไหล่ทวีป (Continental Shelf) เริ่มจากชายฝั่งทะเลไปจนถึงบริเวณพื้นท้องทะเล ไปจนถึงบริเวณที่ท้องทะเลมีการเปลี่ยนระดับความลาดชันที่สูงขึ้น ลักษณะพื้นผิวไหล่ทวีปเป็นร่อง สัน แอ่ง หรือพืดหินปะการัง หรือตะกอนกรวดทราย โคลน เป็นต้น ไหล่ทวีปเป็นบริเวณที่ระดับทะเลมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก การชะล้างพังทลายบนแผ่นดิน และการตกทับถมของตะกอนในมหาสมุทร

ลาดทวีป (Continental Slope) ต่อเนื่องจากไหล่ทวีปลงไป มีระดับความลึก 2,000 - 3,000 เมตร ต่อเนื่องไปจนถึงเนินลาดเรียบทวีป (Continental Rise) มีความลาดชันประมาณ 1 : 40 ลักษณะเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ตามลาดทวีปมักปรากฏภูมิประเทศแบบ "หุบผาชันใต้ทะเล" (Submarine Canyon) มักพบบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ ซึ่งเกิดจากการพัดพากัดเซาะบริเวณดังกล่าวให้กลายเป็นร่องลึก และบริเวณเชิงหุบผาชันมักพบ "เนินตะกอนรูปพัดก้นสมุทร" (Abyssal Fans) รูปร่างคล้ายเนินตะกอนที่ถูกพัดพามา หรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เกิดจากปริมาณตะกอนกรวดทรายที่ถูกพัดพามาตกทับถมกัน

เนินลาดเรียบทวีป (Continental Rise) เป็นบริเวณที่ต่อเนื่องจากลาดทวีปไปจนถึงพื้นราบบาดาล (Abyssal Floor) ความลาดชันสูง 1:100 - 1: 700 ต่อเนื่องกับพื้นราบบาดาล 2.1.4 พื้นราบบาดาล (Abyssal Floor) มีลักษณะเป็นที่ราบเรียบ และลึก เป็นที่สูงต่ำ เกิดจากการตกทับถมของตะกอนต่างๆ ที่พัดพามากับกระแสน้ำ บ้างปรากฏเป็นเนินเขาเตี้ยๆ (Abyssal Hill) ไม่สูงมากพบได้ทั่วไป พื้นราบบาดาลของมหาสมุทรที่เป็นพื้นที่ท้องมหาสมุทรมีลักษณะภูมิประเทศหลากหลายอันได้แก่ สันเขา ที่ราบสูง แอ่ง ภูเขา เช่น สันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งทอดยาวจากไอซ์แลนด์ลงมาเกือบถึงทวีปแอนตาร์กติก มีบางตอนสูงขึ้นมาเหนือน้ำทะเลกลายเป็นเกาะ (Island) เช่น หมู่เกาะอะซอรีส หรือหมู่เกาะฮาวาย มหาสุมทรแปซิฟิก ลักษณะภูมิประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ภูเขาใต้ทะเล พบที่พื้นท้องมหาสมุทร บางลูกมียอดตัด เรียกว่า “กีโอต์” (Guyout) พบมากบริเวณตอนกลางและด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างหมู่เกาะมาเรียนากับหมู่เกาะฮาวาย สำหรับยอดเขากีโอต์อยู่ที่ระดับน้ำลึก 1,200-1,800 เมตร เดิมเป็นยอดภูเขาไฟแต่ถูกคลื่นกระทำให้เกิดการสึกกร่อน หรืออาจมีปะการังมาเกาะเหนือยอดเขากลายเป็นเขายอดตัด และต่อมาพื้นท้องมหาสมุทรลดระดับลงต่ำ หรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจึงจมลงไปอยู่ใต้น้ำ

สันเขากลางมหาสมุทร (Ocean Ridge) เป็นแนวเทือกเขาใต้มหาสมุทร มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 28 ของพื้นท้องมหาสมุทร ส่วนของยอดสันเขามีลักษณะเป็น "หุบเขาทรุด" (Rift Valley) ลักษณะเป็นร่องลึก มีความกว้างประมาณ 25 - 50 กิโลเมตร บริเวณหุบเขาทรุดมักเกิดปรากฏการณ์ภูเขาไฟเสมอ เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และการแทรกตัวของหินหนืดใต้เปลือกโลก จากการศึกษามหาสมุทรของนักสมุทรศาสตร์พบว่า มหาสมุทรแปซิฟิกมีพื้นที่มากที่สุดถึง 180*106 ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 4,028 เมตร รองลงมาได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ 107*106 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 3,332 เมตร ส่วนความลึกที่สุดของมหาสมุทรที่สำรวจพบ ได้แก่มหาสมุทรแปซิฟิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น