ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)

ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography)เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบๆ ตัวมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นธรณีภาค อุทกภาค และบรรยากาศภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ภูมิศาสตร์กายภาพจึงเป็นวิชาหลักพื้นฐาน ที่สามารถช่วยให้นักศึกษาวิเคราะห์เหตุผลประกอบกับการสังเกต พิจารณาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพบนพื้นพิภพได้เป็นอย่างดี

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

Chapter 12 Eolian Process & Arid Landscapes

ทะเลทราย

จากการศึกษาพบว่าพื้นที่บนโลกของเราร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นทะเลทราย พบมากบริเวณระหว่างละติจูดที่ 15 องศา ถึง 30 องศาเหนือ และใต้ ลักษณะภูมิประเทศแบบทะเลทรายมักเกิดกับบริเวณที่แห้งแล้ง เช่น ด้านทิศตะวันตกของทวีปที่มีลมสินค้าพัดออกจากชายฝั่งลงสู่ทะเล ตามชายฝั่งที่มีกระแสน้ำเย็นไหลผ่าน และบริเวณที่อยู่ด้านปลายลมของเขตภูเขาสูง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศดังกล่าวมักไม่มีฝนตกหรือมีน้อยมากอันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศนั่นเอง ทะเลทรายที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกเราสามารถจำแนกออกเป็น 2 เขต ได้แก่ ทะเลทรายลมสินค้า (Trade Wind Desert) เป็นทะเลทรายในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมสินค้า ซึ่งนำพาความแห้งแล้งมาสู่พื้นที่ ทะเลทรายที่สำคัญในเขตนี้ ได้แก่ ทะเลทรายซาฮาร่า ทะเลทรายอาหรับ ทะเลทรายอิหร่าน ทะเลทรายฮาร์ ทะเลทรายการาฮารี ทะเลทรายนามิบ ทะเลทรายอะตากามา และทะเลทรายออสเตรเลีย เป็นต้น ทะเลทรายภาคพื้นทวีป (Continental Desert) เป็นทะเลทรายที่ปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีปและได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมากหรือแทบไม่ได้รับเลย เช่น ทะเลทรายโกบี และทะเลทรายเตอร์กิสถาน เป็นต้น ทะเลทรายดังกล่าวเกิดจากการกระทำของลมและกระแสน้ำทำให้เกิดการกษัยการ (Erosion) และการทับถมขึ้นมาในทะเลทราย
ประเภทของทะเลทรายทะเลทรายเกิดจากการกระทำของลม โดยทำให้เกิดทั้งการกัดกร่อนและการทับถม ซึ่งเรามักพบลักษณะพื้นดินที่เกิดจากการกระทำของลมมากในเขตอากาศแห้งแล้ง เนื่องจากพื้นดินไม่มีพืชปกคลุมในเวลากลางวันและได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ ในเวลากลางคืนอากาศจะเย็นลงจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบผุพังอยู่กับที่ และเมื่อเกิดลมพัดจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางด้านกายภาพ จากการกระทำของลมและสภาพภูมิอากาศในเขตแห้งแล้งเราสามารถจำแนกทะเลทรายตามลักษณะที่ปรากฎได้ดังนี้ ทะเลทรายหิน (Hamada) เป็นทะเลทรายที่ถูกปกคลุมด้วยหิน เนื่องจากเม็ดทรายและดินถูกลมพัดพาไปจนหมดสิ้น คงเหลือแต่หินดินดานที่โผล่ขึ้นมา ทะเลทรายหินปราศจากพืชพรรณปกคลุมเนื่องจากต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ตัวอย่างทะเลทรายหิน ได้แก่ ทะเลทรายหิน เอลโฮมรา (Hamada el Homra) ที่เป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮารา ในประเทศลิเบีย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 52,000 ตารางกิโลเมตร ทะเลทรายหินกรวด (Reg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมด้วยเศษหินและกรวด ทะเลทรายชนิดนี้เดิมเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของฝูงอูฐขนาดใหญ่มาก่อน ในประเทศอียิปต์ และประเทศลิเบีย เราเรียกชื่อทะเลทรายชนิดนี้ว่า “ซีเรอ” (Serir) แต่ในบริเวณอื่น ๆ ของแอฟริกาเรียกว่า “เรก” (Reg) ทะเลทรายทราย (Erg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมพื้นที่แห้งแล้ง มีลมเป็นตัวการกระทำให้เกิดการทับถมกันของเนินทรายแบบต่าง ๆ ทะเลทรายประเภทนี้ ได้แก่ ทะเลทรายคาลานซิโอ (Calanscio Sand Sea) ในประเทศลิเบีย ทะเลทรายเตอร์กิสถาน (Turdestan Desert) ในสาธารณรัฐเตอร์กิสถาน เป็นต้น ทะเลทรายแดนทุรกันดาร (Badland) มักพบตามดินแดนทุรกันดารที่เกิดจากการกระทำจากพายุฝนเป็นครั้งคราวในเขตภูมิอากาศแห้งแล้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมานานหลายศตวรรษ จึงเกิดร่องธารและหุบเหวขนาดใหญ่ ที่มีความกว้างและลึกเป็นจำนวนมาก โดยดินแดนดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย เช่น ทะเลทรายโกต้าใต้ และทะเลทรายเพตน์ (Painted Desert) ในรัฐอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทะเลทรายภูเขา (Mountain Desert) ในบางแห่งพื้นที่ตามที่ราบสูงหรือภูเขาจะเกิดกระบวนการกษัยการจากน้ำค้างแข้ง ทำให้ภูมิประเทศเกิดการผุพังสลายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น ทะเลทรายบริเวณเทือกเขาอแฮกการ์ (Ahaggar) และทิเบสติ (Tibesti) ในทะเลทรายซาฮารา เป็นต้น




ลักษณะภูมิประเทศทะเลทรายกับมนุษย์
ขตภูมิประเทศแบบทะเลทรายจะมีประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่น้อยมาก เนื่องจากขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประชากรที่พักอาศัยในทะเลทรายส่วนใหญ่จึงเป็นพวกเร่ร่อน พักอาศัยอยู่ตามเขตโอเอซิส (Oasis) ลักษณะภูมิประเทศในแถบทะเลทรายจึงมีความสัมพันธ์กับมนุษย์น้อยมาก เช่น ลักษณะของเนินทรายที่เกิดจากการทับถมของทรายจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางตัดผ่านทะเลทราย หรือรูปแบบสันทรายบางประเภท แม้แต่บริเวณทะเลทรายกรวดก็นับว่าเป็นอันตรายต่อการเดินทางของมนุษย์ อันเนื่องมาจากเหลี่ยมคมของกรวดเหล่านั้นที่เป็นอุปสรรคและความยากลำบากต่อการเดินทางและการดำรงชีพในเขตทะเลทราย อย่างไรก็ตามคุณค่าของพื้นที่เขตทะเลทรายจากการกษัยการของลมบางครั้งทำให้เกิดสภาพภูมิทัศน์ที่งดงามในรูปร่างของเนินทรายรูปแบบต่างๆ เช่น สันทรายรูปดาว สามารถใช้เป็นจุดหมายตาในการกำหนดทิศทางการเดินทางในทะเลทรายได้เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ช้ามาก ตลอดจนการพัดกราดของลมทำให้เกิดแอ่งขนาดใหญ่สามารถเก็บสะสมน้ำได้เมื่อเกิดฝนตกลงมา จนกลายเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในเขตทะเลทราย และจะมีประชากรอพยพเข้ามาแวะพักเพื่อหาแหล่งน้ำสำหรับดำรงชีพต่อไป นอกจากนั้นที่ราบดินลมหอบที่เกิดจากการพัดพาของลมไปตกทับถมยังที่ต่างๆ ของโลกเหมาะสำหรับการเพาะปลูก การขุดอุโมงค์ การสร้างถนน นับว่าเป็นคุณประโยชน์อีกทางหนึ่ง ดินลมหอบเมื่อมีการพัดพาของลมมาตกทับถมมากๆ จะเกิดลักษณะภูมิประเทศราบเรียบและเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก เช่น บริเวณที่ราบทางตอนใต้ของรัสเซีย บริเวณทุ่งหญ้าแปมปัสในประเทศอาร์เจนตินา และบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโหในประเทศจีน เป็นต้น นอกจากนี้ดินลมหอบยังนำมาใช้ในการสร้างถนนและทางเท้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีลักษณะเนื้อดินแน่นและทนต่อสภาพการกษัยการได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น